สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก

SWINE PRODUCERS AND PROCESSORS FOR EXPORTING ASSOCIATION

โรคหมูถล่ม สังเวย 3 แสนตัว แถมอาหารสัตว์แพง ทุบผู้เลี้ยงขาดทุน 3 ปี

เกษตรกรเลี้ยงหมูระทม โรคหมูถล่มผลผลิตลดกว่า 30% สังเวยแล้ว 3 แสนตัว แถมต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่ม ถูกบีบขายราคาแค่ กก.ละ 80 บาท อ่วมขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กำลังเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ และยังมีโรคระบาด PRRS หรือโรคเพิร์ส ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้แม่พันธุ์หมูเสียหายไปมากกว่า 300,000 ตัว ส่งผลให้ฟาร์มหมูขุนได้รับความเสียหายไป 30% ทั้งเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่

อีกทั้งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การบริโภคเนื้อหมูลดลง จำนวนนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาท่องเที่ยวหยุดชะงักทำให้การบริโภคทั้งของผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวน้อยลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน เกษตรกรทุกคนต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นแทบทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่มเป็น 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลือง จากราคา 17 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 21 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงปลายข้าวที่ขณะนี้ราคาขึ้นไปถึงกระสอบละ 1,100 บาทแล้ว

ขณะที่ต้องมีภาระในการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity เพื่อการป้องกันโรคในสุกรที่เข้มงวด ทำให้จำเป็นต้องใช้ต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นกว่า 300-400 บาทต่อตัว นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน ซึ่งต้องปรับตัวให้พร้อมกับระบบนี้ ที่จำเป็นต้องใช้ทุนอีกเป็นจำนวนมาก

“สิ่งที่เกษตรกรทุกคนอยากร้องขอคือ ขอผู้บริโภคเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรจะขายหมูได้ราคาดีมีกำไร ปัจจุบันนี้ราคาหมูเป็นที่เกษตรกรขายได้ยังไม่คุ้มกับต้นทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนถีบตัวสูงขึ้นไปมากกว่ากิโลกรัมละ 80.03 บาทแล้ว ยังไม่นับภาวะขาดทุนสะสมที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้คนเลี้ยงหมูพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเอง เพื่อประคองอาชีพให้ผ่านพ้นวิกฤติให้ได้ ขอเพียงผู้บริโภคและภาครัฐเข้าใจกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริง และจนถึงตอนนี้ราคาขายจริงหน้าฟาร์มก็ยังไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

คาดว่าปี 2565 เกษตรกรจึงจะกลับมาเข้าเลี้ยงสุกรใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่คนเลี้ยงตัดสินใจชะลอการเลี้ยง หรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มการผลิตของฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งจากภาวะโรค PRRS รวมถึงรอดูสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูจะกลับมาเป็นปกติ และผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมูได้ 100%

กรมเจรจาฯ แจ้งข่าวดี RCEP บังคับใช้ 1 ม.ค. 65 แน่นอน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งข่าวดี RCEP จะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 แน่นอน หลังสมาชิกให้สัตยาบันครบตามเงื่อนไข ยันไทยพร้อมเต็มที่ หลังเตรียมออกประกาศอัตราภาษี ออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งศูนย์ RCEP Center และติดตามภาวะการค้า ย้ำสินค้า 29,891 รายการ ภาษี 0% ทันที แนะผู้ประกอบการวางแผนใช้ประโยชน์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ล่าสุดประเทศสมาชิก RCEP ได้ให้สัตยาบันครบตามเงื่อนไขที่ความตกลงกำหนดไว้ ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ทำให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ สมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้ว ความตกลงจะมีผลใช้บังคับ ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันคาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับการเตรียมการใช้ประโยชน์จาก RCEP นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้กรมฯ เตรียมการรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยงข้อง ทั้งการประสานงานกับกรมศุลกากร เรื่องการออกประกาศอัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP เพื่อให้พร้อมใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 การประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้ผู้ส่งออกไทยใช้ประกอบการส่งสินค้าไปประเทศสมาชิก RCEP เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 การจัดตั้งศูนย์ RCEP Center เพื่อให้ข้อมูลความตกลง RCEP เช่น อัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยและสมาชิก RCEP ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมแผนรับมือหรือใช้มาตรการปกป้องทางการค้าได้ทันท่วงที การจัดสัมมนาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก RCEP และจัดทำ E-Book ความตกลง RCEP ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

นางอรมนกล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทยจำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก โดยสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น จึงขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการทำธุรกิจและการส่งออกล่วงหน้า

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000110644

CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

  • มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานาน การรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน ซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ อาหารทะเลไปยังแคนาดา ส่งออกยานยนต์ โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโก ส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษ รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวัน โดยถ้าหากไทยเจรจาทำความตกลงทวิภาคีกับแต่ละประเทศคงใช้เวลานานกว่าจะเปิดเสรีได้ทีละประเทศ นอกจากนี้ บางสินค้าไทยก็อาจได้ประโยชน์ในกลุ่มสินค้าที่คู่ FTA ของไทยไม่ได้เปิดตลาดให้ไทยแต่เปิดให้ CPTPP เช่น ญี่ปุ่น (ไก่ ปลาหมึก หมู) เปรู (รถยนต์ ข้าว น้ำตาล ตู้เย็น) เวียดนาม (ยางนอก ยางรอง) มาเลเซีย (ข้าว)
  • มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัว ต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้ สมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นในการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามารวมกับประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังตัวอย่าง ROOs ของสินค้าเม็ดพลาสติกกำหนดให้ใช้วัตถุดิบภายในสมาชิกร้อยละ 30-45 ที่เหลือสามารถนำมาจากนอกกลุ่มได้ สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์กำหนดที่ร้อยละ 30-60
  • มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ดี ด้วยความเข้มข้นของข้อปฏิบัติ CPTPP จึงได้เปิดให้สมาชิกเจรจาต่อรองช่วงเวลาการปรับตัวในแต่ละเรื่องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน หลายประเทศก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน ดังตัวอย่างของการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สมาชิกสามารถกำหนดสัดส่วนวงเงินขั้นต่ำที่สงวนไว้ให้แก่ธุรกิจในประเทศและมีห้วงเวลาการปรับตัวแตกต่างกัน ดังกรณีของเวียดนามมีระยะเวลาปรับตัวได้ยาวนานถึง 26 ปี โดยวงเงินที่อนุญาตให้ต่างชาติร่วมประมูลโครงการก่อสร้างเริ่มที่ 65.2 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก ทยอยปรับลดจนเหลือ 8.5 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ 16 และสำหรับการจัดซื้อสินค้าเริ่มที่ 2 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก จะลดลงเหลือ 0.13 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ 26 สำหรับกรณีของมาเลเซียมีระยะเวลาผ่อนผัน 21 ปี โดยโครงการก่อสร้างเริ่มที่ 63 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก ทยอยลดลงจนเหลือ 14 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ 21

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ครม. อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจากรอบ CPTPP โดยสงวนท่าทีในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ในลำดับถัดไปหากไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องผ่านกระบวนหลายขั้นตอนทั้งการการอนุมัติจาก 11 ประเทศสมาชิก รวมทั้งขั้นตอนการผ่านสภาฯ ตามกฎหมายภายในประเทศด้วย จึงทำให้ประเด็นนี้ยังต้องใช้เวลาเช่นกัน ดังนั้นในระหว่างทางสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตของไทยอย่างยั่งยืน โดยคงต้องเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทย การพิจารณาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ รวมถึงการยกระดับการผลิตของประเทศไปพร้อมกัน อาทิ ปรับปรุงกฎระเบียบของประเทศไทยให้ไม่ต่ำกว่าแนวปฏิบัติของ WTO ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ลดกระแสการกีดกันทางการค้าในปัจจุบันได้ไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม FTA ใดๆ ประกอบกับการยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม การผลักดันพื้นที่การลงทุนและกฎระเบียนใน EEC ให้ตอบโจทย์นักลงทุน การสร้าง Ecosystem ในการผลิตที่ดี การมีแรงงานฝีมือรองรับการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ความพร้อมของระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น